

PIM สำรวจความพึงพอใจของนักศึกษาต่อประสบการณ์เรียนรู้ในแต่ละหลักสูตรของสถาบันภายใต้การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ WBE Model เพื่อค้นหาจุดที่ควรพัฒนาเพื่อนำมาใช้ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง
จากกราฟที่ 1 จะเห็นได้ว่า โดยเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 80 ของนักศึกษา PIM พึงพอใจต่อประสบการณ์เรียนรู้จาก WBE Model ตลอด 5 ปีการศึกษาที่ผ่านมายกเว้นในปีการศึกษา 2563 (2020) ซึ่งเป็นปีแรกที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การจัดการเรียนการสอนของสถาบันอุดมศึกษาทั่วโลกไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ และเมื่อสถาบันได้ปรับรูปแบบการเรียนการสอนแบบ WBE Model ให้เหมาะกับมาตรการความปลอดภัยก็ทำให้ความพึงพอใจของนักศึกษาฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 (2021)

แหล่งข้อมูล: สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

การที่จะยืนยันได้ว่าบัณฑิตของ PIM มีความ Ready to Work นั้นหมายความว่า หลังสำเร็จการศึกษาบัณฑิตต้องมีงานทำ สามารถหางานได้เร็ว และได้รับเงินเดือนที่เหมาะสม ด้วยเหตุนี้ ภาวะการมีงานทำ อัตราเงินเดือนเฉลี่ย และระยะเวลาในการได้งานทำ จึงเป็นตัวชี้วัดที่มีความหมายสำคัญสำหรับความสำเร็จของ WBE Model
จากกราฟที่ 2 จะเห็นได้ชัดเจนว่า โดยเฉลี่ยแล้วบัณฑิตปริญญาตรี PIM มากกว่าร้อยละ 94 มีงานทำภายใน 1 ปีหลังสำเร็จการศึกษา ยกเว้นสำหรับปีการศึกษา 2564 (2021) ซึ่งเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศแล้วพบว่า ภาวะการมีงานทำของบัณฑิต PIM สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในทุกปีการศึกษา

แหล่งข้อมูล: ระบบ CHE QA ของ สป.อว. และระบบภาวะการมีงานทำของบัณฑิต สป.อว.
หมายเหตุ: ข้อมูลค่าเฉลี่ยประเทศไทยของปีการศึกษา 2566 อยู่ในระหว่างรอข้อมูลในระบบภาวะการมีงานทำของบัณฑิต สป.อว.
และในกราฟที่ 3 จะเห็นได้ว่า อัตราเงินเดือนเฉลี่ยที่บัณฑิตปริญญาตรี PIM ได้รับนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศไทยมาโดยตลอดแม้จะมีช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศไทยถดถอยเนื่องจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ในปีการศึกษา 2563 (2020) และเศรษฐกิจชะลอตัวในปีการศึกษา 2566 (2023)

แหล่งข้อมูล: ระบบ CHE QA ของ สป.อว. และสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
นอกจากนี้กราฟที่ 4 แสดงให้เห็นว่า โดยเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 70 ของบัณฑิตปริญญาตรี PIM ได้งานทำภายใน 2 เดือนหลังสำเร็จการศึกษา โดยในปีการศึกษา 2566 บัณฑิตปริญญาตรี PIM ร้อยละ 88.94 ใช้เวลาเกิน 2 เดือนในการได้งานทำ

แหล่งข้อมูล: สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

ผู้ใช้บัณฑิตคือผู้ที่ตัดสินได้ดีที่สุดว่า บัณฑิตของ PIM มีความ Ready to Work จริงหรือไม่ ดังนั้นสถาบันจึงสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้บัณฑิตต่อคุณภาพของบัณฑิตเป็นประจำทุกปีการศึกษา ซึ่งกราฟที่ 5 แสดงให้เห็นว่า ความพึงพอใจของผู้ใช้บัณฑิตของ PIM มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีการศึกษาที่ผ่านมา และจากกราฟที่ 6 เมื่อขอให้ผู้ใช้บัณฑิตเปรียบเทียบคุณภาพการทำงานระหว่างบัณฑิต PIM และบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาอื่นในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่า โดยเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 80 ของผู้ใช้บัณฑิตเห็นว่าบัณฑิตของ PIM มีคุณภาพการทำงานที่มากกว่าตลอด 5 ปีการศึกษาที่ผ่านมา

แหล่งข้อมูล: สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
